วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ถอดบทเรียนมหาอุทกภัย รศ. ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จะมัวปล่อยให้แต่ละชุมชนสร้างพนังกั้นน้ำไม่เกิดประโยชน์แล้ว ต้องมาดูภาพรวม ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือมักจะตามกระแส ไม่มีการพัฒนาใดๆ ไม่มีข้อเสีย มันเดินมาไกลแล้วประเทศเรา เราจะย้อนกลับไปอยู่กับอดีตมันทำไม่ได้ คลองระบายหลากใหญ่ๆ เราไม่มี เราใช้คลองส่งน้ำมาระบายซึ่งมันไม่ถูกวัตถุประสงค์หลักอยู่แล้ว จากนี้จะต้องกำหนดผังเมืองให้มีผังระบายน้ำ กำหนดควบคุมการปลูกสร้าง และจะต้องปักปันเขตแม่น้ำให้ชัดเจน ดังนั้นควรจะคิดเสียวันนี้เลยว่าจะเอาหรือไม่เอา
   เมื่อโรจนะแตก นวนครแตก ทุกหน่วยงานมีแผนที่ของตัวเอง
กปน.ก็มีแผนที่ของเขา หลังจากเกิดเหตุแล้วเขาถึงเอาแผนที่นี้ขึ้น ที่จริงแล้วพอโรจนะพัง นวนครพัง คุณต้องรีบไปป้องกันของคุณแล้ว คุณทำอะไรอยู่ ตอนนี้เราอยู่ภาวะเผชิญเหตุ พอเรารู้เหตุการณ์เราต้องเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น...ในผังเมืองเราไม่มีผังระบายน้ำ ถ้าทำผังระบายน้ำเมื่อไหร่ มันจะต้องมีเทคนิคมีความซับซ้อนขึ้นมาเขาก็อยากทำง่ายๆ ถ้าไม่มีผังระบายน้ำอีกเราตายจริงครับ จะเละเทะกว่านี้
  อุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ในรอบหลายสิบปีที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่เวลานี้หากเป็นสงครามก็ต้องถือว่ายังไม่จบ ขณะที่ปริมาณน้ำจังหวัดรอบนอกเริ่มทรงตัวแต่คนกรุงกลับถูกโอบล้อมและโจมตีจากทุกทิศทุกทางของกระแสน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นในยามวิกฤติรัฐควรจะเป็นหลังพิงให้ประชาชน แต่นาทีนี้ทุกคนรู้เพียงว่าตนเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งแห่งตน
 แม้จะไม่มีประโยชน์ที่จะหา 'แพะ' แต่ รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ชี้ว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องสรุปบทเรียน เพื่อกำหนดมาตรการเฉพาะหน้าไปจนถึงระยะยาว เพื่อไม่ให้คนไทยต้องเป็นผู้ประสบภัยซ้ำซาก
วิกฤติสอนให้ 'เสียสละ'
“ภัยธรรมชาติทุกๆ ครั้งที่เราเผชิญล้วนเป็นฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น เราอย่าโทษคนนั้นคนนี้เลยมันไม่มีประโยชน์หรอกตอนนี้ ดังนั้น เราต้องมาหาสาเหตุ แนวทางแก้ไข ตอนนี้มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำและทำอย่างจริงจังด้วย เราต้องยอมรับความจริงว่าปีนี้ลมมรสุมที่พัดพาเอาฝนมาตกในประเทศไทยค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่นกเต็นที่มาตั้งแต่ 23-31 ก.ค. และต่อถึงวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งฝนก็จะตกที่ภาคเหนือคือแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ตกมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.จึงเห็นน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งแรก และหลังจากนั้นเราก็จะมี ลมมรสุมไห่ถัง เนสาด นาลแก เข้ามา มันมีมรสุมต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ต.ค. ก็มีน้ำผสมมาตลอด นั่นสาเหตุจากธรรมชาติ เราก็ต้องยอมรับว่าปีนี้น้ำค่อนข้างเยอะฝนตกมากที่ภาคเหนือ และไหลงลงมารวมกันแถวชุมแสง จ.นครสวรรค์ จ.ชัยนาท นั่นคือน้ำท่าที่มาตามลำน้ำ
 หลังจากที่น้ำปริมาณเกินความสามารถที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะรับได้มันก็จะแตกไปที่บางโฉมศรี ที่ตอนนั้นไปซ่อมกัน น้ำที่มาจากแม่น้ำข้ามไปในทุ่งนาแล้ว คือปริมาณน้ำมันจะมีอยู่ 2 อย่าง น้ำแรกคือน้ำฝน กับน้ำท่า ไหลมาที่บางระกำ ชุมแสง ชัยนาท แล้วก็ลงแม่น้ำเจ้าพระยา และพอน้ำท่ามันเกินตลิ่งมันก็เข้าไปกัดเซาะพนังกั้นน้ำบางโฉมศรีพัง จากที่มันเป็นน้ำท่าที่ไหลในแม่น้ำเจ้าพระยา ในแม่น้ำน้อย แม่น้ำสุพรรณ มันก็จะเข้าไปในทุ่ง ผมใช้คำว่าน้ำทุ่ง ที่จริงมันก็มีที่มาจากที่เดียวกันนั่นแหละแต่ถ้าไหลในแม่น้ำค่อนข้างควบคุมได้ แต่พอน้ำเข้าไปในทุ่งมันจะบ่า ซึ่งมันก็บ่าไปตามแรงโน้มถ่วงก็คือจากที่สูงลงที่ต่ำ เพราะฉะนั้นน้ำที่มาทำลายความเสียหายให้นิคมฯ โรจนะ นิคมฯ บางปะอิน ไฮเทค คือน้ำทุ่ง น้ำที่มันแตกเข้ามาในทุ่งแล้วมันโอบล้อม พอเราทำคันดินไว้น้ำมันก็จะต้องสร้างระดับน้ำขึ้นมาเพื่อจะไหลข้ามคันดิน แล้วน้ำมันก็เติมมาเรื่อยๆ ที่ทำให้หนักใจคือน้ำในทุ่ง ที่เราจะควบคุมการไหลของมันยังไงที่ไม่ทำลายคันกั้นน้ำ เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ แม่น้ำเจ้าพระยาเราไม่ค่อยกลัว ระดับเราป้องกันได้ แต่น้ำทุ่งที่มาจากคลองหกวาสายล่าง ที่จะมาทางสายไหม ซึ่งจะป้องกันลำบาก”
“แนวทางแก้ไข ณ ปัจจุบันโดยส่วนตัว กทม.เป็นไข่แดงอยู่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ชาวบ้านบางที่ยังไปช็อปปิ้งกันอยู่เลย แต่แถวรังสิต แถวอยุธยาจมน้ำ และปรากฏว่าน้ำตรงนี้ถูก กทม.ทำคันล็อกไว้ เราต้องยอมให้น้ำจากรังสิตเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้บ้าง แต่เอาเข้ามาแบบที่เราควบคุมได้ มีประตูน้ำ มีการสูบน้ำออก เอาเข้ามายังไงก็ได้ที่ระดับมันไม่ล้นตลิ่ง หรือล้นก็ล้นแป๊บเดียวแล้วก็สูบออกหมด เหมือนตอนน้ำท่วมขังกรุงเทพฯ ไม่ต้องน้ำนอกหรอก วิภาวดีฯ แค่ฝนตกน้ำก็ขังแล้ว ทำไมเราทนกันได้ชั่วโมงหนึ่งแล้วสูบออก เราช่วยเขา มันได้สองอย่างนะ หนึ่งพาน้ำออกไปได้เร็วขึ้น สองได้จิตวิทยาด้วยว่าคนกรุงเทพฯ ก็ช่วยคนข้างนอกนะ ที่กลัวที่สุดก็คือคนมาพังคันกั้นน้ำเพราะเขาทนไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมามันก็เกิดขึ้นตลอดเวลา เขาทนไม่ได้เพราะมีความรู้สึกว่าอีกด้านหนึ่งมันตรงกันข้ามเลย คนนี้เดือดร้อนลอยคอคุณยังแห้งอยู่เลย แต่เอาเข้ามา เท่าที่ไม่เดือดร้อน อย่างผมอยู่เกษตรฯ ถ้าเข้ามาแค่ครึ่งหน้าแข้งผมทนได้นะ ”
ที่จริงควรจะเกิดก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ
“ใช่ แต่ กทม.ไม่ยอม จนกระทั่งมันเริ่มมีอารมณ์ความรู้สึกของคน กทม.รับไม่ได้แล้วว่าเราสุขสบายกว่าคนข้างนอกเกินไป”
ถ้าจำได้อาทิตย์ก่อนมันมีข่าวลือว่าจะระบายลงคลองแสนแสบออกบางปะกง นั่นแสดงว่ามีแนวความคิดนี้แต่การบริหารจัดการภายในตกลงกันไม่ได้
“ผมคิดว่าใช่ แสดงว่ามีแนวคิดนี้มาแล้ว ที่จริงถ้าตอนนั้นเออออห่อหมกกันป่านนี้น้ำไปได้เยอะแล้ว ไม่ยอมเพราะกลัวอะไร กลัวฝนจะตก เขาบอกกลัวฝนตกมาแล้วควบคุมไม่ได้ แต่นักวิชาการเขาบอกแล้วว่าถึงฝนตกก็ตกไม่หนัก ถึงแม้จะเจ็บตัวบ้างแต่ว่ามันไม่เสียหายเยอะหรอก แต่ถ้าคุณไม่ทำเลยนะเดี๋ยวมันจะแตกแล้วมันจะเดือดร้อนกันไปหมด เราต้องแบ่งสังคมออกเป็น 2 ส่วน ส่วนเดือดร้อนมันต้องมีส่วนที่เอาออกไปช่วย แต่ถ้ามันท่วมเหมือนกันหมดเรายังช่วยตัวเองไม่รอดเลยแล้วเราจะไปช่วยใคร แต่เราไม่ช่วยจะใช้ความโชคดีที่เรายังรอดไปในเรื่องของบันเทิงเริงรมย์ เรารอดเพื่อนจะเตรียมกำลังไปช่วยข้างนอก เพราะฉะนั้นศูนย์บัญชาการมันจะต้องไม่ท่วม แต่ไม่ใช่แห้งผากนะ แล้วเราค่อยไปช่วยเขา”
“วันนี้ก็ยังดีใจที่เขาเอาเข้าแล้วนะแต่ช้าไปไหมข้อที่หนึ่ง สองเข้าน้อยไปไหม เขาเคยเปิด 30 ซม. แล้วเปลี่ยนมาเป็นเปิด 1 เมตร แต่ 1 เมตรมันก็ยังไม่ล้นตลิ่งเลย ทุกคนตอนนี้มาบอกว่าประตูนี้ของ กทม. ประตูนี้ของกรมชลฯ ตอนนี้ไม่ต้องไปสนแล้วว่าประตูใคร ถ้าใครเห็นตรงไหนเหมาะสมโทร.ไปบอกศูนย์ฯ อย่างโค้งดอนตรงอนุสรณ์สถาน กทม.บอกว่าไม่ใช่เขต กทม. ไม่แล้ว ใครทำอะไรได้ต้องทำ”
น่าแปลกที่ไม่มีใครเตือนเลยว่าน้ำจะล้นมาทางคลองประปาได้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะรู้และหาทางป้องกัน
“ถ้าพูดกันตรงๆ เลยนะ ภาครัฐโดยการประปานครหลวง เมื่อโรจนะแตก นวนครแตก ทุกคนมีแผนที่ กปน.ก็มีแผนที่ของเขา หลังจากเกิดเหตุแล้วเขาถึงเอาแผนที่นี้ขึ้น ที่จริงแล้วพอโรจนะพัง นวนครพัง คุณต้องรีบไปป้องกันของคุณแล้ว คุณทำอะไรอยู่ ตอนนี้เราอยู่ภาวะเผชิญเหตุ พอเรารู้เหตุการณ์เราต้องเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้ปัญหาคือคลองประปากลายเป็นคลองระบายน้ำ ซึ่งมันเสีย 2 อย่าง หนึ่งน้ำเข้ามามันจะทำส่งผลต่อคุณภาพน้ำ อีกอันคือน้ำมันท่วมเข้ามา ตอนนี้ปรากฏว่าน้ำเข้ามากกว่าน้ำออกมันเลยล้น ถึงได้ท่วมปากเกร็ด ศรีสมาน  ชาวบ้านเมืองนนท์กับดอนเมืองก็จะตีกัน ซึ่งแบบนี้เราไม่อยากให้เกิดเมื่อก่อนมันเกิดระหว่างชาวนากับชาวนา ชาวนาฝั่งนี้เกี่ยวแล้ว อีกฝั่งยังไม่เกี่ยว ที่ยังไม่เกี่ยวก็บอกตอนนี้น้ำท่วมที่เกี่ยวแล้วเอาน้ำเข้าหน่อย อีกฝ่ายก็บอกไม่ได้จะเก็บไว้ทำนา แล้วต่อมาก็เป็นชาวนากับชุมชน ชุมชนไม่ให้เข้าชาวบ้านก็บอกเขาเดือดร้อน ตอนนี้เมืองกับเมืองแล้วจะตีกัน ซึ่งตามหลักการบริหารจัดการแล้วเราต้องพยายามลดตรงนี้ลง ไม่อย่างนั้นความขัดแย้งมันจะไปกันใหญ่”
หากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจบริหารจัดการง่ายกว่า
“การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คืออำนาจเบ็ดเสร็จ สั่งการอะไรก็ได้แต่คุณเชื่อผมเถอะถึงแม้มีอำนาจเบ็ดเสร็จถ้าสั่งแล้วเขาไม่ทำคุณจะทำอะไรกับเขาได้ เหมือนปัจจุบันนี้สั่งแล้วทำบ้างไม่ทำบ้าง แล้วมาดูข้อเสียถ้าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วเกิดชาวบ้านเขาต่อต้าน คุณไปปราบชาวบ้านภาพมันออกมาดีไหม คือถ้าออกมาแล้วกฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ ถ้าออกมาแล้วไม่ศักดิ์สิทธิ์บังคับใช้ไม่ได้คนก็ไม่กลัว แต่ถ้าใช้เมื่อไหร่มันก็กระทบกระทั่งระหว่างทหารกับประชาชน ทหารก็จะกลายเป็นผู้ร้าย ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นนะ เราน่าจะคุยกันและมีสติ อย่าเห็นแก่ตัว เสียสละ แล้วทุกอย่างจะจบ เราชอบคิดว่าประการ พ.ร.ก.แล้วจะจบ แต่ภาพพจน์ข้างนอกมันแสดงว่าคุณเอาไม่อยู่แล้ว ที่เอาไม่อยู่นี่ไม่ใช่เรื่องเทคนิคนะแต่คุยกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งให้ออกมาตรการอะไรมามันก็ไม่รู้เรื่อง”
เหตุที่ชาวบ้านพังคันกั้นน้ำ เพราะไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐ
"บ้านเราชอบไปสอนให้คนทำเพื่อตัวเอง ยกตัวอย่างทีวีออกมาได้ยังไงให้ชาวบ้านไปก่ออิฐบล็อกหน้าบ้าน ทำไมไม่มองภาพรวม ถ้าคุณให้แต่ละคนป้องกันตัวเองเมื่อไหร่นะความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นเลย เราต้องสอนกันให้ไปช่วยกันกรอกกระสอบทรายป้องกันทั้งภาพรวม อย่าสอนแบบ micro ถ้าสอนแบบนี้ประเทศไหนก็แก้ไม่จบ เอาแต่บ้านตัวเอง ทำไมญี่ปุ่นเขาบรรเทาเรื่องสึนามิได้เพราะเขาคิดถึงภาพรวม รัฐจะทำอะไรชาวบ้านเชื่อหมด แต่ของเราไม่เชื่อเพราะเราไปสอนให้เขาเห็นแก่ตัว แทนที่จะก่ออิฐบล็อกหน้าบ้าน ทำไมเราไม่คิดสู้ภาพรวมล่ะ ถ้าอย่างนี้มันเป็นการตั้งรับที่มีแต่เสมอกับแพ้ แต่ถ้าคุณไปรวมพลังกันที่ต้นทางมันมีโอกาสชนะ ประเทศไทยเราคงต้องต่อสู้ในเชิงความคิดแบบนี้ให้หนักๆ เราอยู่สุขสบายเกินไปเราไม่เคยเจอภัยพิบัติแรงๆ แบบฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน ที่ตายกันขนาดนั้น ของเราค่อนข้างเบา พอเกิดวิกฤติทีเราก็ไม่รู้จะไปยังไง แต่ที่สำคัญต้องเลิกสอนให้เห็นแก่ตัว"
มุมหนึ่งก็แย้งได้ว่าเพราะคาดหวังอะไรจากรัฐไม่ได้ ชาวบ้านก็ต้องช่วยตัวเองก่อน
"เอาทีละประเด็นนะ เราพูดถึงกรุงเทพฯ ถ้าไม่มีใครไปพังกระสอบทรายแล้วป้องกันให้มันดีๆ ไม่พังเพราะน้ำมันไม่ได้บ่าอย่างโรจนะ โรจนะมันเกิดอะไรขึ้น เราไปก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในที่ลุ่ม ที่ตรงนั้นเมื่อก่อนเป็นนาใช่ไหม เราอยากซื้อนาถูกๆ มาทำนิคมอุตสาหกรรมซื้อมาไร่ละ 2-3 แสน ขายไร่ละ 4 ล้านใช่ไหม นั่นก็แสดงว่า developer เขาต้องการกำไร ภาครัฐอ่อนแอตรงไหนรู้ไหม จัดโซนนิ่งการใช้ที่ดินอ่อนแอ จากนี้ไปภาครัฐจะต้องมาปรับปรุงการทำผังเมืองใหม่ให้เข้มแข็งและก็ต้องใจแข็ง ตรงไหนที่บอกเป็นที่เก็บน้ำก็ต้องเก็บน้ำ ตรงไหนต้องควบคุมการก่อสร้างว่าห้ามปลูกก็ต้องห้าม
จะต้องมีการปรับปรุงผังเมืองจากปัจจุบันที่เราทำอยู่แค่ 2 ผัง คือผังการใช้ที่ดินที่มีการกำหนดสีแดง สีเขียว ว่าจะเป็นอะไร อีกอันหนึ่งคือผังการคมนาคมขนส่งก็คือผังถนนนั่นเอง ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน มันขาดอีก 2 ผังใหญ่ๆ ก็คือผังระบายน้ำ ในผังเมืองเราไม่มีผังระบายน้ำ ถ้าทำผังระบายน้ำเมื่อไหร่มันจะต้องมีเทคนิคมีความซับซ้อนขึ้นมาเขาก็อยากทำง่ายๆ ถ้าไม่มีผังระบายน้ำอีก 20 ปีตายจริงครับ จะเละเทะกว่านี้ จะต้องปรับปรุงผังเมืองให้มีผังระบายน้ำ และจะต้องปรับปรุงผังเมืองให้กำหนดโซนนิ่งการปลูกบ้านหรือการพัฒนาที่ดินให้สอดคล้องกับผังระบายน้ำ จะต้องควบคุมการก่อสร้างด้วยนะ ไม่ใช่ว่าใครจะสร้างอะไรก็ได้ ในที่ลุ่มต้องไปดูเลย ยกตัวอย่างเช่นริมน้ำ ถ้าคุณจะสร้าง ทั้งๆ ที่บริเวณนั้นน้ำท่วมถึง คุณก็ต้องกำหนดให้ปลูกบ้านใต้ถุนสูงให้น้ำลอดได้ แต่ปัจจุบันเราไปถมที่ขวางแม่น้ำเลย อย่างง่ายๆ ฝั่งบางบัวทองที่เจ็บกันหนักเพราะอะไรรู้ไหม เมื่อก่อนที่มันถูกและมีโครงการรถไฟฟ้าจะไปถึง ทุกคนไปซื้อที่ทำหมู่บ้านจัดสรร ทั้งๆ ที่เป็นบริเวณที่น้ำท่วมถึงแล้วทุกโครงการก็ไปทำคันปิดล้อมหมด ถ้ายังไม่มีการทำอะไรอีก 20 ปีจะเสียหายหนักกว่าเพราะการใช้ที่ดินมันเปลี่ยนแปลงไป ไปขวางทางเดินของน้ำ"
"มันต้องมีหลายมาตรการ อย่าง ณ ขณะนี้คือเผชิญเหตุตอนนี้ก็คือเราต้องน้ำเข้ากรุงเทพฯ เอาเข้าคลองแสนแสบไปสูบออกเจ้าพระยา สูบออกคลองชายทะเล ออกบางปะกง  มาตรการระยะสั้นก็คือต้องมีการปลูกป่า ฟื้นฟูป่า อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองน้ำ แก้มลิงเล็กๆ น้อยเพื่อการอุปโภค-บริโภค อันนี้ก็ยังต้องทำ แต่ผมเสนอแนวทางใหม่ก็คือจะต้องกำหนดผังเมือง กำหนดควบคุมการปลูกสร้าง อีกแนวทางก็คือจะต้องปักปันเขตแม่น้ำให้ชัดเจน ชาวบ้านที่อยู่ในเขตแม่น้ำคุณจะต้องรับความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมตอนที่รัฐจะผันน้ำ เพราะคุณเข้าไปอยู่ในที่สาธารณะ ปัญหาตอนนี้เรากำลังห่วงคนที่บุกรุก ขณะที่คนไม่ได้บุกรุกกลับเจ็บปวด ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจ คนอาจจะเถียงว่าตรงนี้เขาเป็นคนยากคนจน ก็ทำแฟลตให้เขา ทำได้ไหม ถ้าไม่ได้คุณก็ต้องรับสภาพเพราะคุณเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ"
"อีกมาตรการก็คือจะต้องมีการจัดพื้นที่เกษตรรับน้ำนอง เพราะปัจจุบันชาวบ้านห่วงข้าวที่ยังไม่ได้เกี่ยว เลยเอาน้ำเข้าไปในทุ่งไม่ได้ ที่ตอนนั้นบอกเอาเข้าเขตนั้นเขตนี้ไม่ได้ขอเกี่ยวข้าวก่อน ตรงนี้แหละที่ทำให้ให้น้ำท่วมครั้งนี้หนักหนาสาหัส"
กำหนดพื้นที่เกษตรน้ำนองก็เพื่อให้ชาวนาปลูกข้าว-เก็บเกี่ยวเร็วขึ้น
"แล้วจะได้ผันน้ำเข้าไปได้ วงกลมเลยว่าเป็นพื้นที่เกษตรรับน้ำนอง มีอยู่ 2 เงื่อนไข เงื่อนไขแรกจากปัจจุบันคุณปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 1 ประมาณเดือน ม.ค.-พ.ค. ต่อไปก็นาปีประมาณ พ.ค.-ส.ค. และจะไปเกี่ยว ก.ย. ซึ่งไม่ได้แล้วเป็นหน้ามรสุม น้ำมันท่วม และมีอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ปลูกข้าวนาปรังเพราะไม่มีน้ำต้นทุนไม่มีน้ำจากอ่างมา ก็คือลุ่มแม่น้ำยมแถวบางระกำ เขาปลูกข้าวนาปี ผมเลยเสนอแนะใหม่ว่าขีดวงเลยว่าตรงนี้เป็นพื้นที่เกษตรรับน้ำนอง ชาวนาที่มีน้ำจากอ่างเก็บน้ำส่งมาได้ ขอเลยไม่ต้องปลูกข้าวนาปีได้ไหม เพราะที่คุณลุ่มปลูกไปมันก็เสี่ยงกับน้ำท่วม ให้ปลูกนาปรัง 2 ครั้งได้ไหม เริ่มปลูกตั้งแต่ ธ.ค.-มี.ค. และพอนาปรังครั้งที่ 2 ก็ เม.ย.-ก.ค. ไปเกี่ยว ส.ค. ต้องเกี่ยววันแม่ เมื่อเราบอกว่าปลูกวันแม่เกี่ยววันพ่อ ต้องขยับใหม่ และชาวนาต้องปรับตัวเองจากเมื่อก่อนปลูกข้าวไวต่อแสง มันต้องไปเกี่ยวเดือน ธ.ค. ต้องมาเปลี่ยนปลูกข้าว กข.ไม่ไวต่อแสง คือเกี่ยว ส.ค. มีคนถามว่าอย่างนี้ต้องศึกษาพื้นที่ใหม่ไหม ผมบอกไม่ต้องเลย เอาพื้นที่น้ำท่วมมาขีดวงได้เลยตอนนี้ ตรงไหนที่ท่วมสูงๆ อย่างทำอย่างนี้ได้เราจะมีพื้นที่มาเก็บน้ำนองเป็นล้านไร่ ซึ่งอันนี้รัฐต้องกล้า เพราะปัญหาที่เขาไม่ให้ผันน้ำเข้าที่นาเราต้องยอมรับว่าคนเกี่ยวข้าวเขาก็อยากได้ผลผลิต แม้จะ 60-70 ถังมันก็เป็นรายได้เขา เขาไม่มีทางเลือก แต่ถ้าคุณกำหนดก่อนล่วงหน้าว่าตรงนี้เรากำหนดอย่างนี้นะถ้าใครปลูกข้าวนอกเหนือเวลาเมื่อไหร่ไม่ให้เข้าโครงการจำนำข้าวนะ ถ้าใครร่วมมือ ธกส.สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มันมีมาตรการเสริมเยอะแยะ แต่ต้องกล้า"
"ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้ทำนาปรัง เขาทำนาปีเพราะรัฐไม่มีน้ำต้นทุนให้เขา รัฐบาลเช่าที่เลย เช่าเฉพาะช่วงนาปีเพื่อเก็บน้ำ รู้ไหมค่าเช่าเท่าไหร่ 1,000-1,200 บาทต่อไร่ ในการปลูกข้าว 1 ครั้ง"
ถ้าเทียบกับทำนาตามปกติล่ะ
"เขาลงทุน 3,000 อาจจะขายได้ประมาณ 6,000-7,000 แต่คุณต้องเสี่ยงน้ำท่วมนะ ลงทุน 3,000 รัฐชดเชยแค่ 2,200 ก็ขาดทุน แต่ถ้าให้รัฐเช่าซึ่งก็ต้องมาถกเถียงกันว่าราคาไหนจะเหมาะสม  เราต้องคิดกรณีศึกษาไว้ให้ครบ และต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจ รัฐก็ต้องหาอาชีพอื่นให้เขาด้วย"
'ทางด่วน' น้ำ
จากนี้ไปการปลูกสร้างจะต้องคำนึงถึง 'ผังระบายน้ำ' โดยเฉพาะบ้านจัดสรร
"ไม่ได้ดูเลย แล้วเวลาเราจะไปซื้อบ้านยังไม่รู้เลยว่าตรงนั้นน้ำท่วมแน่ๆ ดูแค่โฆษณาดี บ้านสวย ราคาพอได้ ชุมชนน่ารัก แต่ลืมดูเรื่องภัยพิบัติ"
ผังเมือง กทม.เอง ก็มีแต่ผังการคมนาคมและผังจัดสรรที่ดิน
"แต่มีผังพวกคลองอยู่ พูดกันอย่างเปิดอกชาวบ้านบุกรุกในคลองให้อยู่ได้ยังไง และปัจจุบันที่ปล่อยน้ำระบายลงคลองไม่ได้ก็เพราะชาวบ้านโวย คนที่ทำผิดกฎหมายได้รับการคุ้มครอง คนที่ทำถูกกฎหมายได้อะไร ถ้าไม่มีการปรับปรุงผังเมืองกันใหม่ ไม่มีผังระบายน้ำเกิดใน 20 ปี เราจะเสียหายกว่านี้ เราต้องปรับกระบวนทรรศน์ สรุปบทเรียนความเจ็บปวดในครั้งนี้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ผมไม่ชอบโทษใครแต่รีบสรุปบทเรียนเลยว่ามันเป็นยังไงและก็รีบมาแก้ไขเพื่ออนาคต ยังไม่สาย นิคมอุตสาหกรรมที่มันเสียหายไปแล้วก็ต้องหาทางป้องกันให้เข้มแข็งกว่านี้ ไอ้ที่จะเกิดใหม่ควรจะหาที่ที่เหมาะสมกว่านี้เพื่อจะได้ลงทุนน้อย ที่ทำไปแล้วก็ไม่ได้ย้ายแต่ทางวิศวกรรมป้องกันได้ก็ต้องลงทุน"
ไม่อย่างนั้นนักลงทุนย้ายฐานแน่
"ผมคิดว่านักลงทุนไม่ได้ดูเรื่องนี้อย่างเดียว นักลงทุนดูแรงงาน  แหล่งกระจายสินค้า บ้านเราได้เปรียบประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2-3 เรื่องใหญ่ หนึ่งมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนดีกว่ารอบข้าง เราแพ้อยู่แค่สิงคโปร์ สองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งอำนวยความสะดวกเราดีกว่าเยอะ อีกอันคือเรามีคนเกือบ 70 ล้านคนเป็นผู้บริโภค แต่แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องรีบสรุปบทเรียนและวางระบบเพื่ออนาคต"
นอกจากต้องปรับผังเมืองกันใหม่แล้ว อ.ชัยวัฒน์ ยังเสนอมาตรการเฉพาะหน้าและระยะยาว
"การบริหารจัดการน้ำจะต้องมีเครื่องมือเพิ่ม มีทางด่วนน้ำ นี่คือการแก้ปัญหาระยะกลางที่เราได้โยนเข้าไปสู่สังคมให้ได้ถกเถียงกัน แต่ต้องมีข้อสรุปนะ แต่ถ้าไม่สรุปแล้วอย่ามาด่าว่านักวิชาการไม่คิดอะไรเลย บ้านเราชอบเถียงชอบด่ากันแล้วถามว่าแล้วเอาไงกัน ก็ไม่รู้ ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือมักจะตามกระแส ไม่มีการพัฒนาใดๆ ไม่มีข้อเสีย มันเดินมาไกลแล้วประเทศเรา เราจะย้อนกลับไปอยู่กับอดีตมันทำไม่ได้ คลองระบายหลากใหญ่ๆ เราไม่มี เราใช้คลองส่งน้ำมาระบายซึ่งมันไม่ถูกวัตถุประสงค์หลักอยู่แล้ว ซึ่งคลองส่งน้ำลักษณะปากคลองจะใหญ่แล้วเล็กลงเรื่อยๆ หลักการออกแบบเป็นอย่างนั้น ส่วนคลองระบายน้ำตรงปากคลองจะเล็กแล้วจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นี่คือระบาย แต่ตอนนี้เราต้องการอีกคลองเดียวก็คือคลองที่ตั้งแต่ต้นยันท้าย ซึ่งเรามีอยู่แค่แม่น้ำสุพรรณซึ่งเป็นน้ำธรรมชาติ แต่ชาวบ้านก็อยู่ริมตรงนี้หมดเลยพอคุณส่งน้ำเข้าไปสูงหน่อยก็โวยแล้วว่าน้ำท่วม เพราะว่ามันเป็นคลองส่ง ตอนส่งน้ำไม่มีปัญหาแต่ตอนระบายน้ำจะใส่เข้าไปเยอะๆ เมื่อไหร่ชาวบ้านเดือดร้อน ฉะนั้นมันก็ต้องมีเครื่องมือที่เป็นคลองขึ้นมาใหม่มีหน้าที่ระบายน้ำอย่างเดียว ก็ต้องกล้าทำ"
ปีหน้ามีโอกาสจะเจออย่างนี้อีก?
"ขึ้นอยู่กับพายุ อย่างปีนี้พายุมาตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค. มันมา 4 เดือน ถ้ามาแล้วไปก็จบ แต่มาต่อเนื่องอย่างปีนี้ก็จะเจอแบบนี้อีก"
ในเมื่อพนังกั้นน้ำ- คันดิน ช่วยอะไรไม่ได้อีกแล้ว ต่อไปทั้ง อบต. อบจ.แต่ละแห่งก็จะยิ่งหาทางกั้นน้ำมากขึ้น
"ก็ต้องถามว่าทำอย่างนั้นแล้วมีใครรอดไหม แตกหมด มันต้องมาคิดแก้กันทั้งระบบ เองเงินที่จะไปแก้กันแต่ละชุมชนมารวมกันแล้วแก้ทั้งระบบดีกว่าไหม อย่างการผันน้ำอ้อมเมือง เราทำทั้งลุ่มน้ำ ลองไปค้นดูได้โครงการพระราชดำริผันน้ำอ้อมเมืองชุมพรหัววังพนังตัก เดี๋ยวนี้ชุมพรน้ำท่วมไหม เมื่อก่อนนี้ท่วมประจำเลย พอมีหัววังพนังตักไม่ท่วมแล้ว วิธีการก็คือปกติน้ำจะตามลำน้ำพอล้นตลิ่งก็ท่วมชุมพร เราก็ไปทางด้านเหนือน้ำตรงไหนที่มีคลองธรรมชาติหรือมีโอกาสเราก็ขุดคลองผันลงทะเลเลย เป็นทางด่วนน้ำเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารจัดการ ตัดระยะทางให้มันสั้นและเอายอดน้ำที่เขาเรียกว่ามวลน้ำก้อนโตให้มันระบายออกไป จะต้องมีการขุดคลองผันน้ำรับน้ำจาก อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ลัดเลาะมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาที่เขื่อนพระราม 6 เลียบคลองระพีพัฒน์ ลงมาทาง จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วก็มาออก จ.นครนายก ที่แม่น้ำนครนายก ก็คือผันน้ำจากเจ้าพระยาไปออกแม่น้ำนครนายก ลงไปแม่น้ำบางปะกง ข้ามลุ่มน้ำเลย ไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ
และอีกเส้นหนึ่งก็เป็นฝั่งตะวันตกผันน้ำจาก จ.ชัยนาท ที่ใกล้ๆ กับประตูระบายพลเทพ ลัดเลาะมาตามคลอง มะขามเฒ่า อู่ทอง ผ่านดอนเจดีย์ ลงสองพี่น้อง ลงแม่น้ำสุพรรณ และก็มาออกแม่น้ำท่าจีน ถ้าเรามีเครื่องมือสองสายนี้เราสามารถจะเอาฝนที่ตกตอนนกเต็นระบายไปได้ก่อน แต่ปัจจุบันเราไม่มี น้ำมันก็เลยกองอยู่แถวนครสวรรค์ บางระกำ พอเนสาด ไห่ถัง มามันก็ซ้ำเติมเพราะเราไม่มีทางด่วนน้ำ"
"อันนี้เป็นมาตรการระยะกลาง ซึ่งกว่าจะทำได้ กว่าจะเริ่มทำ 5 ปี และพอสร้างอีก 5 ปีกว่าจะเสร็จอีก 5 ปี ดังนั้นควรจะคิดเสียวันนี้เลยว่าจะเอาหรือไม่เอา ถ้าไม่เอาก็ไม่เอาแล้วอย่ามาบ่นว่าน้ำท่วม และถึงจะทำตรงนี้อยุธยา บางบัวทอง ปทุมฯ ปากเกร็ด ก็ยังไม่จบ ปีไหนน้ำเยอะๆ มันก็ยังมีน้ำขึ้นน้ำลง ที่เรากลัวกันว่าน้ำสิ้นเดือนนี้จะมาอีกเพราะมันขึ้นๆ ลงๆ อยู่ ถ้าเราจะแก้ปัญหานี้มันก็ต้องเป็นมาตรการระยะยาวคือการปิดปากอ่าว อยู่แบบเนเธอร์แลนด์เลย ช่วงน้ำขึ้นเราก็ปิด แต่เราอยู่แบบเนเธอร์แลนด์แค่ปีละ 2 เดือน ช่วงหน้าแล้งก็อยู่แบบปกติเหมือนเดิม น้ำขึ้นนำลงปกติไม่มีน้ำหลาก แต่จะมีช่วงเวลา 2 เดือนที่จะต้องบริหารจัดการ เราจะมีประตูระบายน้ำ เราทำเขื่อนหินทิ้งจากแหลมผักเบี้ยมาจนถึงแหลมฉบัง ประมาณ 80 กม. เป็นแก้มลิง เป้นการตัดวงจรน้ำขึ้นน้ำลงโดยใช้ประตูน้ำควบคุม พอน้ำขึ้นเราก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลหนุน เอาน้ำจากอ่างทอง จากปทุมฯ ไหลลงแก้มลิง จากนั้นก็เปิดประตูให้น้ำไหลออกไป พอน้ำขึ้นใหม่เราก็ปิด เพราะเรารู้อิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง ปัจจุบันน้ำขึ้นสูงสุดประมาณ +1 เมตรและลดต่ำสุด -0.5 เมตร นี่ปีปกตินะ เรามีน้ำ 1.50 เมตรที่บริหารจัดการ แต่เรามีแก้มลิงเบ้อเริ่มเลย เราก็จัดการได้"
"แต่โครงการนี้มันจะมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย เอาข้อเสียก่อนล่ะกัน พวกอนุรักษ์เขาจะมาต่อต้านเลยว่าจะทำลายระบบนิเวศ ปลาทูจะไม่ออกไข่ ทำนองนั้น แต่ข้อดีก็เยอะ หนึ่งเราแก้ปัญหาแถวบางบัวทอง ปทุมฯ รังสิต เมื่ออยู่ภายใต้อิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง เราจะมีเครื่องมือบริหารอุทกภัยอย่างดีเลย รับน้ำหลากได้ นี่ไม่ใช่ไอเดียใหม่ เราคิดตามแนวคิดของเนเธอร์แลนด์แต่เรามาประยุต์ใช้กับบ้านเรา แล้วเมื่อปิดประตูอย่างนี้ช่วยได้ 4 แม่น้ำเลยนะ เจ้าพระยา บางปะกง แม่กลอง ท่าจีน และโครงการนี้ไปช่วยเสริมมาตรการระยะกลาง เพราะโครงการทางด่วนน้ำเถียงกันวันนี้กว่าจะทะเลาะกันจบ 10 ปี กว่าจะได้สร้างอีก 10 ปี และกรุงเทพฯ นี่ทรุดตัวทุกปีนะครับ เรากำลังกลัวว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำทะเลใช่ไหม แล้วยังไม่คิดจะสู้เหรอ จะย้ายกรุงเทพฯ ไปไหนล่ะ คุณบอกกลัวสตอมเซิร์จ แล้วไม่คิดจะป้องกันเลยเหรอ บางขุนเขียน แหลมฟ้าฝ่าถูกกัดเซาะระเนระนาด ไม่ป้องกันเลยเหรอ นี่ก็เป็นโจทย์ที่โยนลงไป เราเอาแต่กลัวแต่ไม่ทำอะไร"
 "มุมที่ดีของการเกิดอุทกภัยคราวนี้ก็คือคนไทยทุกคนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว มันมาถึงตัวเรา แต่มันจะต้องตีตอนเหล็กกำลังร้อน พอจบเรื่องนี้ต้องให้เรื่องภัยธรรมชาติเป็นวาระแห่งชาติเลย ต้องมีการซ้อมตั้งรับ บ้านเราชอบติดนิสัยพอซ้อมเสร็จไม่เกิด โหแล้วจะไปซ้อมทำไม เสียเวลา จำไว้เลยว่าธรรมชาติมีข้อควรระวังคือถ้าคุณประมาทเมื่อไหร่เขาจะมา ถ้าคุณเตรียมพร้อมเขาจะไม่มา คนไทยจะติดว่าโอ๊ย! ซ้อมเหนื่อยซึ่งภัยพิบัติไม่มาก็ดีแล้ว อย่างซ้อมอัคคีภัยนี่ไม่อยากซ้อมกันเลย"
"ทุกหน่วยงานต้องมาบูรณาการร่วมกัน กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยต้องมาดูเรื่องผังเมือง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มาดูเรื่องปักปันเขตลำน้ำ พื้นที่เกษตรรับน้ำเป็นหน้าที่กรมชลประทาน อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องมีก็คือกองทุนน้ำท่วม หน่วยงานที่จะต้องบริหารจัดการก็คือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คนกรุงเทพฯ ที่ยังไม่วิกฤติก็น่าจะออกเงินไปให้คนที่เดือดร้อน ปีไหนที่น้ำไม่ท่วมก็เอาเงินตรงนี้ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค ซึ่งกองทุนนี้ไม่ใช่แค่ว่าซื้อถุงยังชีพไปแจกตอนน้ำท่วมแต่ต้องบริหารจัดการหลายเรื่อง แม้กระทั่งไปให้เขาพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เกี่ยวพันกับน้ำท่วม ทั้งซ่อมแซมเยียวยา ไม่ใช่เป็นกองทุนเพื่อไปทำถุงยังชีพ"
"พอวิกฤติครั้งนี้มันมีหลายโมเดลที่น่าสนใจ อย่างองค์กรบริหารท้องถิ่นที่เขาเข้มแข็ง จะมี อบต.พี่ อบต.น้อง ต่อไปนี้เอามาจับคู่กันเลย วาตภัยเกิดที่ไหนบ้างและที่ไหนมันไม่เกิด อุทกภัยเกิดที่ไหน-ที่ไหนไม่เกิด ภัยแล้งเกิดที่ไหน-ที่ไหนไม่เกิด แล้วก็จับคู่ให้มันถูก เพื่อที่ว่าตรงนี้เกิดภัยพิบัติอยู่ อบต.ที่ยังรอดก็มาช่วย อย่างนี้ก็จะได้เข้มแข็ง เพราะไม่อย่างนั้นภาครัฐอย่างเดียวไม่ไหวหรอก มันต้องมีแบบนี้ซึ่งหลายที่เขาทำอยู่ ซึ่งผมว่าดีแต่มันต้องแพร่หลายให้ทั่วประเทศ ถ้าทำอย่างนี้ต่อไปเราจะเข้มแข็งแต่อย่าสอนให้เห็นแก่ตัวนะ ต้องสอนให้เสียสละ ให้มีจิตอาสา ผมมีความรู้สึกว่าภัยพิบัติที่เกิดกับประเทศเราถึงแม้มันจะมาเท่าเดิมนะแต่ความเดือดร้อนจะมากขึ้นๆ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลค่ามันมากขึ้นมันต้องเดือดร้อนมากขึ้น บางบัวทองสมัยก่อนมีอะไร เป็นท้องนา ตอนนี้บ้านหลังละหลายล้าน เสียหายเท่าไหร่ เพราะว่าเราพัฒนาเมืองโดยลืมป้องกันเรื่องภัย แล้วแรงกดดันจะกดดันมาที่ภาครัฐ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น